กสิกรไทย แผนปี65 ตั้งเป้าผู้นำบริการดิจิทัล-สร้างการเติบโต AEC+3

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

กสิกรไทยลุยแผนธุรกิจปี 65 ปักยุทธศาตร์เป็นผู้นำให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมเดินหน้าขยายการเติบโตในภูมิภาค AEC+3 ด้วยบริการผ่านพันธมิตรและการใช้เทคโนโลยี

วันที่ 28 มกราคม 2565 นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าปี 2564 โดยมีแรงหนุนต่อเนื่องจากการส่งออกและการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ จะเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แม้เศรษฐกิจภาพรวมจะยังเผชิญความไม่แน่นอนหลายประการ จากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงการปรับขึ้นของเงินเฟ้อ ภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจและปัจจัยความท้าทายดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศเป้าหมายทางการเงินปี 2565 ดังนี้

 

การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ที่ 6-8% จากการเติบโตสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าบุคคลและกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอส เอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ (Data Analytics) การร่วมมือกับพันธมิตร และการเติบโตสินเชื่อในภูมิภาค AEC+3 อีกทั้ง ธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สินเชื่อลูกค้าบุคคลคาดว่าจะเติบโต 9-11% สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีคาดว่าจะเติบโต 4-6% และสินเชื่อบรรษัทธุรกิจคาดว่าจะเติบโต 1-3%

ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin:NIM) ที่ 3.15-3.30% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย

รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (Net Fee Income Growth) เติบโตคงที่ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมรับจากการทำธุรกรรม และจากฐานรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 2564 ที่สูงตามภาวะตลาด

ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to Income Ratio) คาดว่าจะอยู่ในระดับ Low to Mid-40s จากรายได้ที่เติบโตสอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ธนาคารจึงยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) อย่างต่อเนื่อง

เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio (Gross)) ที่ 3.7-4.0% โดยโควิด 19 ยังคงส่งผลกระทบต่อคุณภาพเงินให้สินเชื่อ ทั้งนี้ ธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงเชิงรุก และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจะทยอยฟื้นตัวขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น

 

Credit Cost คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 160 bps โดยธนาคารยังคงใช้หลักความระมัดระวังและนโยบายทางการเงินที่รอบคอบในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

นางสาวขัตติยา กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ธนาคารกสิกรไทยยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) และมุ่งมั่นในการเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้าในทุกๆ กลุ่ม (To Empower Every Customer’s Life and Business) อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดูแลลูกค้าให้ผ่านภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของโควิด 19 และสามารถเดินหน้าในการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตต่อไปได้ในภาวะปกติใหม่

โดยกำหนดหลักการทำงานสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การดำเนินงานตามหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล/เศรษฐกิจ (ESG) การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง (Strong Brand) และการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันในโลกธุรกิจที่มี นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นตัวนำ (Beyond Banking and Innovation) เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจธนาคารให้สามารถตอบโจทย์การให้บริการที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม ได้อย่างทันท่วงที โดยธนาคารกสิกรไทยกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

1.เป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินในทุกแพลตฟอร์มดิจิทัลและรองรับทุกประเภทของการชำระเงินใน Ecosystem ของลูกค้า (Dominate Digital Payment) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลได้ครบวงจรและมีความปลอดภัยเชื่อถือได้ ในเวลาและสถานที่ที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงใช้การวิเคราะห์ข้อมูลการใช้บริการเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมและตรงใจ

2.ยกระดับการปล่อยสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบุคคล (Reimagine Commercial & Consumer Lending) โดยนำข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าและคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ มาวิเคราะห์และคัดกรองลูกค้าที่มีความสนใจและมีศักยภาพในการชำระหนี้ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในช่องทางที่เหมาะสม สามารถบริหารจัดการต้นทุนและความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการเข้าถึงลูกค้าบุคคลรายเล็กผ่านช่องทางดิจิทัล

3.ขยายบริการด้านการลงทุนและการรับประกันภัยไปยังลูกค้าที่ยังไม่เคยใช้บริการ (Democratize Investment & Insurance) สำหรับลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายใหญ่ โดยจัดให้มีผู้ดูแลความสัมพันธ์ในการให้คำปรึกษา ส่วนลูกค้ารายเล็ก ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกในการลงทุนด้วยตนเอง พร้อมข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ลูกค้าได้ศึกษาอย่างเพียงพอ บนต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

4.เจาะตลาดและขยายการเติบโตทางธุรกิจในประเทศภูมิภาค AEC+3 (Penetrate Regional Market) ด้วยกลยุทธ์รุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ โดยอาศัยความได้เปรียบด้านความสัมพันธ์ที่มีกับลูกค้าธนาคาร รวมทั้งขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรธนาคารในสาธารณรัฐประชาชนจีน และการพัฒนาช่องทางดิจิทัลในการทำธุรกรรมทางการเงินในประเทศภูมิภาค AEC และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่รองรับการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2566 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้ธนาคาร

5.ยกระดับประสบการณ์บริการและการขาย (Strengthen Harmonized Sale & Services Experience) ผ่านการประสานอย่างไร้รอยต่อระหว่างช่องทางบริการของธนาคารกับพันธมิตร เพื่อให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยรูปแบบบริการและการขายที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย

6.เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อสร้างคุณค่าที่มาจากการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพทั้งทรัพยากรบุคคล ข้อมูล การเงิน และเทคโนโลยี (Improve Value-Based Productivity) อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมในการแข่งขัน

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธนาคารสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือต้อง “อยู่ในที่ที่ลูกค้าอยู่ (Be where customers are)” ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจใน Ecosystem ต่างๆ ซึ่งธนาคารดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะพัฒนาความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้ากลุ่มที่ธนาคารยังเข้าถึงได้น้อย โดยเฉพาะลูกค้ารายเล็ก และขยายธุรกิจในบริการทางการเงินซึ่งมีผลตอบแทนสูง

นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการประเด็นดังกล่าว และมีแผนที่จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อยกระดับความสามารถในการติดตามและบริหารจัดการหนี้ของธนาคารในอนาคต

ธนาคารดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งพัฒนานวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่าบริการทางการเงินในปัจจุบัน เช่น การส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนาเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Business) ให้เกิดการนำมาใช้จริง เช่น มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV Bike) เป็นต้น และการให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจัดตั้ง บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix) เพื่อให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ในตลาดแรกผ่านบล็อกเชน

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ตามโครงการ Transformation ทั้ง 8 โครงการอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

(1) การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้าง Ecosystem ควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการขายและให้บริการของธนาคาร เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า (Ecosystem Partnership & Harmonized Channel) (2) การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเสนอสินเชื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย (Intelligent Lending) (3) การบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และแนวทางการป้องกันในเชิงรุก (Proactive Risk & Compliance Management)

(4) การพัฒนาบริการรับชำระเงินระหว่างประเทศ (Regional Payment & Settlement) (5) การพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Data Analytics) (6) ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cyber Security) (7) การพัฒนาศักยภาพของพนักงานเพื่อมุ่งสู่การเป็น Agile Organization (Performing Talent and Agile Organization) (8) พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้ธนาคารเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค (Modern World Class Technology Capability)

นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารเชื่อมั่นว่าจะสามารถยกระดับขีดความสามารถไปอีกขั้นและสร้างศักยภาพเพื่อการแข่งขันที่แข็งแกร่งในระยะยาว พร้อมส่งมอบบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้ายุคดิจิทัลได้อย่างครอบคลุมทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจลูกค้าสามารถปรับตัวไปต่อได้ในยุคนิว นอร์มอล และร่วมเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวเดินหน้า ตอบรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค AEC+3

ทั้งนี้ ในเส้นทางการขับเคลื่อนธุรกิจที่ท้าทาย ธนาคารจะเดินหน้าปฏิบัติภารกิจตามความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ตามเจตนารมณ์ที่ได้ประกาศไว้ พร้อมผลักดันประเทศไทยและลูกค้าของธนาคารก้าวสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน อีกทั้งธนาคารให้ความสำคัญไม่เพียงมิติสิ่งแวดล้อม แต่รวมทั้งมิติสังคม และธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่ผลตอบแทนในระยะยาวต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และส่งมอบสังคมและโลกที่ยั่งยืนให้แก่คนรุ่นต่อไป

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance